Skip to the content
Skip to the Navigation
ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชลงสำรวจพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โครงการรถโมบายสโตรคยูนิตฯ และการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบครบวงจรในประเทศไทย
(29มีค.64) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย ชันยากร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทีม ลงสำรวจพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีสำหรับโครงการรถโมบายสโตรคยูนิต ร่วมกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบครบวงจรในประเทศไทย โดยมี อาจารย์นายแพทย์ณัฐพงศ์ กนกกวินวงศ์ ประธานศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี อาจารย์แพทย์หญิงเยาวดี โพกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และร่วมประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการดังกล่าว ณ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม
หลังจากนั้นคณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางที่รถโมบายสโตรคยูนิตที่จะออกให้บริการการรักษาและการส่งต่อผู้ป่วยโดยครอบคลุม 6 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลวิภาวดี โรงพยาบาลเคียนซา โรงพยาบาลท่าโรงช้าง โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม โรงพยาบาลบ้านตาขุน และโรงพยาบาลพนม ตลอดจนสำรวจจุดนัดพบระหว่างรถโมบายสโตรคยูนิต (MSU) และรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS)
ทั้งนี้ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาระบบการบริการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตร่วมกับระบบปรึกษาทางไกลเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สามารถเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยได้เปิดให้บริการในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก และพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 จนถึงปัจจุบันมีผู้รับบริการกว่า 400 ราย ที่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว สามารถลดระยะเวลา Door-to-needle time เหลือ 15-20 นาที และผู้ป่วยมีผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากกว่าร้อยละ 50
ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีสถิติการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันด้วยการฉีดยาสลายลิ่มเลือด (rtPA) สูงที่สุดในประเทศ แม้จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหลอดเลือดสมองจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้การให้บริการโดยรถโมบายสโตรคยูนิตร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล จะช่วยเติมเต็มกระบวนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกันในทุกสิทธิการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีความเหมาะสมทั้งทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นทีมที่มีความเข้มแข็ง อีกทั้งมีความพร้อมในการให้บริการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิต ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะมีการเชื่อมต่อช่องทางการส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อความครอบคลุมและครบวงจรยิ่งขึ้น
Previous article
30 มีนาคม 2021
Next article
5 เมษายน 2021