ความสำเร็จ 1 ปี ศิริราชรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ด้วยรถพยาบาลเคลื่อนที่ และมูลนิธิไทยคม มอบรถ MOBILE STROKE UNIT คันที่ 2
(24 มิ.ย. 62) เวลา 13.30 น. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว “โครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช” ภายใน 1 ปี ให้บริการกว่า 100 ราย ” โดยมี รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช อีกทั้งยังมี นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิไทยคม ผู้แทนจากมูลนิธิไทยคมเข้ามอบรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแก่โรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วยภาคีแครือข่ายจาก 11 หน่วยงานร่วมด้วย ณ ห้องประชุม 101 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (SIMR) ชั้น 1 รพ.ศิริราช
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในประเทศที่มีรายได้น้อย หรือรายได้ปานกลาง ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 1,880 รายต่อแสนราย การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (hyperacute period) มีความก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน โดยพบว่า เวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษากล่าวคือ เมื่อเกิดการอุดตันของหลอดเลือด เนื้อสมองในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของการขาดเลือด (Ischemic core) จะเกิดการตายอย่างเฉียบพลัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนเนื้อสมองบริเวณโดยรอบที่ขาดเลือดไปเลี้ยง (Ischemic penumbra) จะหยุดทำงานและตายไปในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการเปิดหลอดเลือดอย่างทันท่วงที
โรงพยาบาลศิริราชเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงเกิดเป็น “โครงการนำร่องการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช” ซึ่งเป็น 1 ใน 130 โครงการ ทำงานเพื่อแผ่นดิน เริ่มให้บริการครั้งแรกในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน และให้บริการผู้ป่วยไปแล้วกว่า 100 ราย นับนิมิตหมายอันดีที่จะขยายการรักษาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ด้าน รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลือนที่ รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วน ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักการแพทย์ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิ ป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฟรีวิลล์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ร่วมมือทำโครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลือนที่ รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ส่งผลให้โครงการนี้สำเร็จตามเป้าหมาย
ในส่วนของการดำเนินโครงการ ฯ รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช กล่าวว่า รถ Mobile Stroke Unit ให้บริการผู้ป่วยครบ 100 รายแรก ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้ให้การรักษาผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน คิดเป็นร้อยละ 55.2 ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน คิดเป็นร้อยละ 29.6 ผู้ป่วยเป็นโรคที่ไม่ใช่หลอดเลือดสมอง คิดเป็นร้อยละ 10.4 ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดชั่วคราว คิดเป็นร้อยละ 4.8 ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับจากเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรี คิดเป็นร้อยละ 59.2 ผู้ป่วยรับจากเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี จากศูนย์เอราวัณ 1669 คิดเป็นร้อยละ 20.0 ผู้ป่วยรับจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิ ร่วมกตัญญูและสายตรง 02 419 8888 คิดเป็นร้อยละ 20.8 คนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน และได้รับการฉีดยาสลายลิ่มเลือด คิดเป็นร้อยละ 50.7 คนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน และได้รับการฉีดยาสลายลิ่มเลือด ร่วมกับการใส่สายสวนหลอดเลือด คิดเป็นร้อยละ 11.6 คนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 2.9 อีกทั้งคนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองทุกคนจะเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย Siriraj Acute Stroke Unit
นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กล่าวว่า มูลนิธิไทยคม เล็งเห็นความสำคัญของรถ MOBILE STROKE UNIT ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากรถคันแรกที่ทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมสนับสนุน สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้รอดชีวิตมาแล้วกว่า 100 รายและในปีนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มูลนิธิไทยคม ขอมอบรถ MOBILE STROKE UNIT คันที่ 2 เพื่อนำไปใช้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและสังคมต่อไป
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวปิดท้ายว่า โครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาล เคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันดำเนินการนั้น มุ่งเน้นการบริการสุขภาพที่มีคุณค่า ได้มาตรฐานสากล เป็นการพัฒนาเครือข่ายการรับ-ส่งผู้ป่วย รวมทั้งเปิดโอกาสใหม่ ๆ ของ การพัฒนาระบบให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทางไกล ให้เอื้อต่อการปรึกษาผู้ป่วยฉุกเฉิน จะลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และเป็นแบบอย่างให้แก่องค์กรแพทย์อื่น ๆ ได้ร่วมดำเนินการต่อไป และขอขอบคุณมูลนิธิไทยคมที่เล็งถึงความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในการมอบรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน