MSU-SOS เชื่อมต่อระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยานแบบครบวงจร
MSU-SOS เชื่อมต่อระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยานแบบครบวงจร
ผลการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นกับเวลา หากผู้ป่วยจไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีความพิการตลอดชีวิต หรือเสียชีวิตได้ ทั้งนี้เนื่องจาก “สมอง” เป็นอวัยวะที่ทนต่อการขาดเลือดได้ในเวลาที่จำกัด
ดังนั้นการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในพื้นที่ไปยังโรงพยาบาลปลายทางที่มีศักยภาพในการรักษามากกว่าโดยทางรถฉุกเฉินอาจไม่ทันการ ทางเดียวที่จะสามารถลำเลียงผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีคือ “เฮลิคอปเตอร์”
ด้วยเหตุนี้เอง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองบินตำรวจ และภาคีเครือข่าย ได้แก่ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม โรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ศูนย์สั่งการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา และโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ โรงพยาบาลท่าโรงช้าง โรงพยาบาลพนม โรงพยาบาลบ้านตาขุน โรงพยาบาลวิภาวดี และโรงพยาบาลเคียนซา
จึงได้ร่วมกันฝึกและซักซ้อมสาธิตระบบส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยอากาศยาน ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2564 ณ กองบินตำรวจ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมความพร้อมการส่งต่อผู้ป่วยเข้าทำการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันด้วยการใส่สายสวนเพื่อลากลิ่มเลือดยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.) โรงพยาบาลสงขลา หรือโรงพยาบาลตรัง ภายใต้โครงการ MSU-SOS (Mobile Stroke Unit – Stroke One Stop)
ทั้งนี้ โครงการ MSU-SOS จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 โดยมีทีมแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม ทำหน้าที่ออกปฏิบัติการบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit – MSU) และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ร่วมกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชเป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุนปฏิบัติการ