Comparing Process, Performance Measures and Clinical Outcome Between Mobile Stroke Unit and Usual Care in Underserved Areas
Abstract P123: Comparing Process, Performance Measures and Clinical Outcome Between Mobile Stroke Unit and Usual Care in Underserved Areas
การศึกษาเปรียบเทียบขั้นตอน, การปฏิบัติงานและผลการรักษาผู้ป่วย ระหว่างรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (MSU) และการรักษาปกติในพื้นที่ให้บริการ
วัตถุประสงค์: ศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเปรียบเทียบขั้นตอน, การปฏิบัติงานและผลการรักษาผู้ป่วย ระหว่างรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (MSU) และการรักษาปกติในพื้นที่ให้บริการ
วิธีการดำเนินวิจัย: ทำการศึกษาในผู้ป่วยอายุ 18ปีขึ้นไป ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (Acute Ischemic Stroke; AIS) และมีระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติจนมาถึงโรงพยาบาลน้อยกว่า 4.5 ชั่วโมง ที่ได้รับการรักษาจากรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Si-MSU) และหน่วยตรวจโรคฉุกเฉิน (ED) โดยให้การรักษาตามแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันด้วยยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (IV t-PA) หรือสายสวนหลอดเลือดสมอง (EVT) และทำการบันทึกข้อมูลทางประชากร, วิธีการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือด, ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติจนมาถึงโรงพยาบาล (OD), ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้เอ็กซเรย์สมอง (DCT), ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (DN) และระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง (DP) จากนั้นบันทึกผลการรักษาผู้ป่วยโดยใช้เกณฑ์การประเมินระดับความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Modified Rankin Scale; mRS) ที่ 3 เดือน
ผลการศึกษา: ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (Acute Ischemic Stroke; AIS) จำนวน 519 ราย เป็นผู้ป่วยจากรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Si-MSU) 130 ราย และจากหน่วยตรวจโรคฉุกเฉิน (ED) 389 ราย ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 มีค่าเฉลี่ยอายุของผู้ป่วย คือ 66 ปี (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานอายุ 13.9 ปี) เป็นเพศชาย 254 ราย คิดเป็น 48.9% ผลการศึกษาพบว่า เวลาในแต่ละขั้นตอนของการรักษาจาก Si-MSU มีระยะสั้นกว่าการรักษาที่หน่วยตรวจโรคฉุกเฉินจากสถิติ ดังนี้คือ ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้เอ็กซเรย์สมอง (DCT) ของผู้ป่วยจาก Si-MSU คือ 7 นาที (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเวลา 4.9 นาที) และจาก ED คือ 16 นาที (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเวลา 13.7 นาที), ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (DN) ของผู้ป่วยจาก Si-MSU คือ 21 นาที (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเวลา 7 นาที) และจาก ED คือ 34 นาที (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเวลา 13.8 นาที) และระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง (DP) ของผู้ป่วยจาก Si-MSU คือ 71 นาที (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเวลา 20 นาที) และจาก ED คือ 94 นาที (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเวลา 44.6 นาที)
อัตราการใส่สายสวนหลอดเลือดสมองอยู่ในระดับเท่าๆ กันทั้งจาก Si-MSU และ ED แต่อัตราการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (IV t-PA) สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก Si-MSU คือ 59.2% จาก ED คือ 34.4% และผลการรักษาผู้ป่วยที่ประเมินจากเกณฑ์การประเมินระดับความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Modified Rankin Scale; mRS) ที่ 3 เดือน อยู่ระดับ 0-2 คะแนน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก Si-MSU คือ 67.5% จาก ED คือ 57.9%
สรุป: รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Si-MSU) สามารถลดระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับการเปิดหลอดเลือด, เพิ่มอัตราการให้ IV t-PA และผลการรักษาดีขึ้น อัตราความพิการที่ 3 เดือนลดลงเมื่อเทียบกับการรักษาตามปกติ
ผู้วิจัย:
รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์, นางกรุณา ชูกิจ, นางสาวไวทยาภรณ์ เพ็งทอง, นางสาวมนันชยา กองเมืองปัก,
นางสาวกนกกาญจน์ วงศ์มยุรฉัตร, Gustavo Saposnik, ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร, รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์,
ผศ.ดร.รณชัย ศิโรเวฐนุกูล, ผศ.นพ.ศรัทธา ริยาพันธ์, อ.พญ.ชิตาภา กาวีต๊ะ, อ.นพ.สงคราม โชติกอนุชิต,
รศ.พญ.อัญชลี ชูโรจน์, นางสาวพลอยไพลิน ทับมนเทียน. นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง, รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ,
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์
แปลจากบทคัดย่อ: Abstract P123: Comparing Process, Performance Measures and Clinical Outcome Between Mobile Stroke Unit and Usual Care in Underserved Areas
Originally published: 11 Mar 2021, https://doi.org/10.1161/str.52.suppl_1.P123
ผู้แปล: นางสาวอภิญญา โล่หิรัญ พยาบาลประจำศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช